วันพุธที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2554









มหาวิทยาลัยศิลปากร เดิมคือ โรงเรียนปราณีตศิลปกรรม สังกัดกรมศิลปากร ท่านศาสตราจารย์
ศิลป์ พีระศรี (เดิมชื่อ Corrado Feroci) ชาวอิตาเลียน ซึ่งเดินทางมารับราชการในประเทศไทย ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ร่วมกับคุณพระสาโรช รัชตมินมานก์ (สาโรช สุขยางค์) ท่านทั้งสองได้ก่อตั้งโรงเรียนปราณีตศิลปกรรมขึ้นในปีพ.ศ. 2476 ใช้พื้นที่วังกลาง และวังตะวันออก หน้าพระบรมมหาราชวังเป็นที่ตั้งของโรงเรียนแห่งนี้ เปิดสอนให้แก่ข้าราชการและนักเรียนในสมัยนั้นโดยไม่เก็บค่าเล่าเรียน ต่อมาปีพ.ศ. 2478 ได้รวมเอาโรงเรียนนาฏยดุริยางคศาสตร์ ที่ตั้งอยู่วังหน้าไว้ด้วย และเปลี่ยนชื่อใหม่ว่า “โรงเรียนศิลปากร”
โรงเรียนศิลปากรได้เจริญเติบโตเป็นลำดับเรื่อยมา กระทั่งพระยาอนุมานราชธนร่วมกับอาจารย์ศิลป์ พัฒนาหลักสูตรจนได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2486 [2]จัดตั้ง คณะจิตรกรรมและประติมากรรม ขึ้นเป็นคณะวิชาแรก (ปัจจุบันคือคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์) ในปี พ.ศ. 2498 อาจารย์ศิลป์ผลักดันให้เกิดคณะวิชาใหม่ คือ คณะสถาปัตยกรรมไทยซึ่งมี พระพรหมพิจิตร (อู๋ ลาภานนท์) เป็นผู้ก่อตั้ง (ซึ่งต่อมาได้ปรับหลักสูตรและเปลี่ยนชื่อเป็น คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์) คณะโบราณคดี วางรากฐานโดยหลวงบริบาล บุรีภัณฑ์ และต่อมาจึงมี คณะมัณฑนศิลป์ ซึ่งแยกตัวออกมาจากคณะจิตรกรรมฯ จากนั้นได้ขยายพื้นที่มหาวิทยาลัยโดยได้จัดซื้อที่ดินวังท่าพระซึ่งอยู่ติดกับที่ตั้งเดิมจากทายาทสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
ต่อมาเมื่อผู้แทนขององค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมของสหประชาชาติได้ให้คำแนะนำในการจัดตั้ง สถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทยให้มีลักษณะสอดคล้องกับหลักการสากล คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาโครงการปรับปรุงมหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อขยายการศึกษาวิชาต่าง ๆ โดยไม่จำกัดเฉพาะศิลปะและโบราณคดีเท่านั้น ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร จึงได้ ดำเนินการจัดตั้งคณะอักษรศาสตร์ขึ้นเป็นคณะวิชาลำดับที่ 5 เป็นคณะวิชาแรกของวิทยาเขตแห่งใหม่ คือ วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ ณ จังหวัดนครปฐม โดยเริ่มเปิดสอนนักศึกษารุ่นแรก เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2511 และคณะอักษรศาสตร์ได้ถือวันดังกล่าวเป็นวันสถาปนาคณะฯ ตลอดมา และได้มีการจัดตั้งคณะศึกษาศาสตร์ในปีพ.ศ. 2513 คณะวิทยาศาสตร์ในปีพ.ศ. 2515 คณะเภสัชศาสตร์ในปีพ.ศ. 2529 คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรมในปีพ.ศ. 2535(ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม) และคณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตรในปีพ.ศ. 2544(เปิดการเรียนการสอนรวมกับคณะวิทยาศาสตร์)ตามลำดับ
ระหว่างปีพ.ศ. 2542 มหาวิทยาลัยได้จัดตั้งคณะดุริยางคศาสตร์ เนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ36พรรษา ในวันที่2 เมษายน พ.ศ. 2536 และเพื่อให้เป็นมหาวิทยาลัยที่มีความสมบูรณ์ทางด้านศิลปะมากยิ่งขึ้น โดยจัดการเรียนการสอนตลอดหลักสูตรที่สำนักงานอธิการบดีตลิ่งชัน
จากนั้นมหาวิทยาลัยจึงได้มีมติก่อตั้งวิทยาเขตใหม่เพื่อรองรับการขยายตัวของมหาวิทยาลัยในอนาคต โดยมีมติเลือกอำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี คือ วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี โดยมีคณะวิทยาการจัดการในปีพ.ศ. 2545เป็นคณะสาขาวิชาแรกของวิทยาเขต จากนั้นคณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตรจึงได้ย้ายมาเปิดการเรียนการสอนเต็มรูปแบบที่วิทยาเขตนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น